แด่

"บี้ - ศิลป์ ศิวากรณ์"


วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2550

"นิราศรัฐ ก.ไก่"



กาลหนึ่ง ณ รัฐ ก.ไก่
อันเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง
ประชาชีล้วนรักสงบจริง-จริง
บ้านเมืองแน่นิ่งมานานครัน

อย่าว่าแต่รัฐประหาร
มิเคยมีเรื่องร้าวฉานให้พรึงพรั่น
ประชาชาติต่างเป็นสุขพอ-พอกัน
ใต้ร่มเงาคำขวัญ "ประชาธิปไตย"

ตลอดมามิเคยเสียเลือดเนื้อ
สามัคคีเอื้อเฟื้อผู้ดี-ไพร่
14 ตุลาฯ – 6 ตุลาฯ ล้วนห่างไกล
พฤษภาฯ เป็นฉันใด – ไม่เคยมี!



บัดดลยักษาก็มาเกิด!
บัดเดี๋ยวระเบิดก็ครืนครั่น!
บัดโน้นเมืองทั้งเมืองเกิดอัศจรรย์!
ยักษ์จับกินเสียอย่างนั้นหน้าไม่อาย!!

บังเกิดเหล่าสมุนยักษ์คึกคักครื้น
จับแผ่นดินเคี้ยวกลืนอย่างมักได้
ใครหาญล้วงคอขับบังคับคาย
มันจับหม่ำเอาง่าย-ง่ายบัดเดี๋ยวนั้น!!

ผู้คนร้อยทั้งร้อยมิเคยเห็น
ล้านทั้งล้านเคยอยู่เย็นเป็นแม่นมั่น
เมืองทั้งเมืองไร้ยักษามาชั่วกัลป์
ขมุบขมิบรำพัน --- "…ฤาฝันไป?"

จึงร้อยใจล้านใจเป็นพวงมาลี
เสี่ยงหาผู้มากบารมีมาสวมใส่
ตั้งอธิษฐาน---แม้นใครหาญปราบยักษ์ร้าย
เอาอะไรไปแลกก็ยอมแล้ว…


(สาธุ…)


พวงมาลีลอยรี่ระรี้ระริก
มหาชนเร่งยิก-ยิกอยู่เจื้อยแจ้ว
กะพริบหนึ่งจากเวหามาวับแวว
คล้ายขานว่า "…ได้ยินแล้ว ใจเย็นเย็น"

บัดนั้น อสุนีกัมปนาท!
ไพเราะดั่งสายฟ้าฟาดความทุกข์เข็ญ
เหมือนถูกน้ำร้อนสาดสิ้นหนาวเย็น
เป็นบุญเมืองอยู่จนเห็น "ปฏิวัติ"!!

สงบ สะอาด ง่าย งาม…
ไร้ตะคอกคำราม ไร้ขบกัด
เจริญหู เจริญตา สารพัด
ควรยึดถือปฏิบัติกันสืบไป

มหาชนล้านทั้งล้านเบิกบานทั่ว
(มีแต่พวกคิดชั่ว-ชั่วที่ร่ำไห้)
อืม… คุ้มแล้วแหละหนา "ประชาธิปไตย"
ยักษาลี้ภัยอยู่ไกลลับ

เสียดายทำไม – รัฐธรรมนูญ?
เดี๋ยวก็ได้มานอนหนุนอีกฉบับ
เดี๋ยวฉีกอีก ก็ได้อีก จนเกินนับ
ถมทับเป็นปุ๋ยประชาธิปไตย

ได้มาง่าย ก็ฉีกง่าย สบายบรื๋อ
"ความสงบ" สิหาซื้อกันไม่ได้
("พวกนั้น" ยังร่ำไห้ปิ่มจะขาดใจ
ยังกับเอาเลือดเนื้อใครไปแลกมา)

อืม… หากมีประชาธิปไตยคือมียักษ์
สู้รักจะไม่มีเสียดีกว่า
อีกสิทธิ เสรี บลา-บลา-บลา…
ฤาจะสู้หรรษาสามัคคี



ครานั้น ณ รัฐ ก.ไก่
มหาชนพลันพร้อมใจหลับตาปี๋
สงบนิ่งพิงกันเป็นอันดี
ไว้อาลัยสิทธิ์ เสรี ประชาธิปไตย

(ไชโย!)




"นิราศรัฐ ก.ไก่"
(2 เมษายน 2550)

หมายเหตุ
เผยแพร่ครั้งแรกใน "นิราศรัฐ ก.ไก่"
คอลัมน์ "บังเอิญคิด", เวบไซต์ประชาไท
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2550

"ใดสื่อ - อันเสรี?"



"เสรี" ที่ใจตน
ที่ตาค้น ที่มือเขียน
มิใช่เพียงใฝ่เวียน-
วนเอ่ยอ้างนาม "เสรี"

มิพรั่น ต่ออำนาจ
อันอุกอาจ อันกาลี
มิคร้าม มิไยดี
ต่ออามิสอันยวนใจ

"เสรี" ที่จะท้า
มิว่าฟ้า ฤาดินใด
และมิใช่ "อำเภอใจ"
หากคือ "ไท" และคือ "ธรรม"

ใช่ "ธรรม" ที่ท่องบ่น
เพียงเชิดตนให้เด่นล้ำ
พร่ำเพ้ออยู่งึมงำ
ล่อลวงโลกตะลึงลาน

"ธรรม” คือ "สัจพจน์"
มิเลี้ยวลดตามโมงกาล
"ธรรม" คือ "อุดมการณ์"
อันเทิดแด่ประชาไท

"ธรรม" คือ "จรรยาบรรณ"
อันยึดมั่นประจำใจ
เป็นเกราะอันคุ้มภัย
ให้หยัดท้ามวลสามานย์

นี้จึงคือ "สื่อมวลชน"
คือนามคนผู้ทนทาน
ต่อโลก แลต่อกาล
ต่อแสนล้านทุรภัย

"สื่อ" ใดคง "เสรี"
มิเปลี่ยนสี มิแปรไป
มวลผองประชาไท
ย่อมจดจารชั่วกาลกัลป์

เฉก "สื่ออันเสรี"-
ใดร้อยสีไปวันวัน
แม้นามเชิดเลิศอนันต์
ย่อมไร้ค่ากว่าไร้นาม




"ใดสื่อ - อันเสรี?"
7 มีนาคม 2550


หมายเหตุ
เผยแพร่ครั้งแรกใน "ใดสื่อ - อันเสรี?"
คอลัมน์ "บังเอิญคิด", เวบไซต์ประชาไท
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2550

"เลือน"



ละลายทิ้งเลือดเนื้อเดือน "ตุลาฯ"
เลือนแล้ว "พฤษภาฯ" อุทิศให้
ละเลงลบ - กลบหน้า "ประชาธิปไตย"
74 ปี นิยามใหม่กันเสียที!


"เลือน"
(ธันวาคม 2549)


หมายเหตุ
บทกวีนี้เผยแพร่ครั้งแรกในบทความ
"ไม่เอารัฐประหาร - ก็ต้องไม่เอารัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร"
คอลัมน์ "บังเอิญคิด", เวบไซต์ประชาไท
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549

"ฤาบ้านนี้ - เมืองนี้ ...ก็เช่นนี้?"



ฤาสังคมนี้ก็เช่นนี้?
กี่เดือนกี่ปีไม่ไปไหน
กี่เลือด-กี่ร่าง …รางเลือนไป
ลอยลับ-ดับไปในไฟเมือง

บ้านนี้-เมืองนี้ ก็เช่นนี้?
เพียงกงล้อธรณีเปลี่ยนเรื่อง
วนซ้ำ กรรมซัด - แค่ผลัดเมือง
ไม่ใช่เรื่องประชาชน – ประชาธิปไตย?

ฤาสังคมนี้ก็เช่นนี้?
ต้องถามกันอีกกี่ที "จำได้ไหม...?"
เวทนาจริงหนา "ประชาธิปไตย"
เกิด-ดับ-กลับกลาย ...อยู่ดั่งนี้?



"ฤาบ้านนี้ - เมืองนี้ ...ก็เช่นนี้?"
(20 กันยายน 2549)


หมายเหตุ
บทกวีนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน
"ความคิดเห็นต่อบทบรรณาธิการ", เวบไซต์ประชาไท
เมื่อวันที่20 กันยายน 2549 (ความคิดเห็นที่ 23)

"คือคน"



แท้คือ ชะตา – ฟ้าลิขิต!
คือบาปกรรมเนรมิตให้อับจน
จึงร่ำร้องไปก็ไร้ผล
สมควรก้มหน้าทนรับไป!?

หรือแท้คือ "คน" บันดาล
กดขี่บงการให้สิ้นไร้
คือ "คน" กับ "คน" ที่จนใจ
ใช่เทวดาหน้าไหนบีฑา?

จึง "คน" เท่านั้นจะเปลี่ยนโลก
เปลี่ยนวันคืนทุกข์โศกเบื้องหน้า
กระชากทิ้งทุกสิ่งที่บีฑา
ไม่ต้องรอชาติหน้า – ฟ้าใด!!



"คือคน"
(2547)

หมายเหตุ:
บทกวีนี้ อ่าน/เผยแพร่ครั้งแรกในกิจกรรม "สิทธิแรงงานคือสิทธิมนุษยชน"
ณ หอศิลป์ตาดู, กรุงเทพฯ, 10 ธันวาคม 2547

"ราคา"



มาจากไหนก็คนมิใช่หรือ ?
สองมือ – สองขา – สองตาเห็น
มีชีวิตก็อยากสู้อยากอยู่เย็น
แบกทุกข์แบกลำเค็ญมาถึงไทย

แรงใครก็แรงงานใช่ไหมเล่า ?
ขอกันกินเปล่าเปล่าเสียที่ไหน
ไทย – พม่าก็คนอย่าจนใจ
เลือกเกิดได้ก็คงไม่เกิดมาจน!



"ราคา"
(2547)

หมายเหตุ
ปลายปี 2547 ผมได้รับมอบหมายให้เขียนบทกวี 11 ชิ้น
เพื่อตีพิมพ์บน "ปฏิทินแรงงาน 2548"
ซึ่งจัดพิมพ์โดยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย

"ราคา" คือหนึ่งในบทกวี 11 ชิ้นดังกล่าว

แด่ "ความตายที่เป็นอื่น"



ที่ตายก็ตายเกลื่อน!!
ที่แชเชือนก็เบือนบัง
ที่แค้นก็คุ้มคลั่ง
ที่เจ็บฝังก็คั่งคุ

เพื่อ "ไทย" และเพื่อ "ชาติ" ?
เพื่ออำนาจเหนือมาตุ-
ภูมิใด – ใครบรรลุ
เหนือกองเลือดละเลงไว้?

ยิ่งฆ่าก็ยิ่งคลั่ง!
ยิ่งชิงชังยิ่งปราชัย!
ยิ่งปราบก็ยิ่งไป!
ก็ยิ่งหายนะนัก!!

กี่กาล – ตำนานเดือด
กี่กองเลือดจึงประจักษ์
กี่ร่ำไห้ – อาลัยรัก
อัตตาหนักจึงผ่อนเบา?



หลังม่าน - ตำนานฆ่า
ลำน้ำตายังร้อนเร่า
"ความตาย" ไม่เคยเบา
ไม่เคย "เขา" – ไม่เคย "ใคร"

พ่อหนูเป็นทหาร
โอย…ผัวฉันเป็นครูใหญ่
ลูกฉันจะเป็น "ใคร"
ก็ตายไปไม่ต่างกัน!!

ท่ามกลางเสียงโห่ร้อง
ประกาศก้องเป็นคำขวัญ
"รักไทย" ยิ่ง "ชีวัน"
ชะ!! ลูกฉันหรอกที่ตาย!!!

ตายตกกี่หมื่นพัน?
กี่ "ชีวัน" สังเวยใคร!!!




แด่ "ความตายที่เป็นอื่น"
(31 ตุลาคม 2547)




หมายเหตุ:
เผยแพร่ครั้งแรกบนเสื้อยืดรณรงค์ ดับไฟใต้ด้วย "สันติ"
พฤศจิกายน 2547, เชียงใหม่

"แด่ เจริญ วัดอักษร"



แล้วดาวก็ก็ร่วงอีกดวงหนึ่ง
คล้ายจะตอกย้ำว่าไม่มีวันไปถึง
สังคมที่หวังที่คอย...

ฟ้าดำคล้ำกร้าว
อสุนีดับดาวร่วงผล็อย
แหลกยับลับลอย
ฝากแผลฝังรอยบนแผ่นดิน

เมฆฝนหม่นฟ้า
จะท่วมทับหยาดน้ำตาเราสิ้น?
กู่ตะโกนร่ำไห้ไร้คนยิน
ลาลับก็ดับสิ้น---อีกครั้ง?!

ทะเลสะอื้น...
พลันผืนทรายฟองคลื่นฟื้นคลั่ง
ในเสียงซัดสาด - - -
คล้ายเสียงตวาดก้องดัง
คล้ายเสียงฝากสั่ง
เถิด, ความตายเขายังจะปลุกคน!!



"แด่ เจริญ วัดอักษร"
(มิถุนายน 2547)

...ฝันร้ายของ "วีรบุรุษ"



หลับเถิดเสรีชน...
อย่ายอมทนลุกฟื้นฝืน
ดาบ หอก กระบอกปืน
มิเท่าคลื่นแห่งมายา...

(ดัดแปลงจากบทกวีของ "รวี โดมพระจันทร์")



มายาเพียงเท่านั้น
ละลายฝันจนมัวพร่า
มายาแห่ง "ราคา"
…ของชีวิตและเส้นทาง

ฉุดดึงตกกระได!
พลอยโจนไปในหุบกว้าง!!
ฝันเลือนไปในเส้นทาง!!!
ก่อนละลายกับสายลม!!!!!

เคยจะปีนไปเปลี่ยนฟ้า
เด็ดดาวมาให้คนชม
จะชะล้างความขื่นขม
โลก – สังคมโสมมมวล

พลันต้องมาพรากฝัน
หลงคืนวันพลิกผันผวน
หลงร่างแหอันแปรปรวน
...โอ้มายา ...โอ้ดวงใจ



โลกเปลี่ยนหรือเราเปลี่ยน?
ถกวนเวียนแล้วร่ำไห้
เหมืนไขว่คว้ามาเท่าไร
ยิ่งหลงทิศยิ่งผิดทาง

ผวาตื่นขึ้นกลางดึก!
วูบสำนึกช่างอ้างว้าง
คล้ายแว่วใครครวญคราง
ทวงสัญญา "ฟ้าสีทอง..."


......


หลับเถอะ, ไม่เป็นไร
อย่าหวั่นไหว อย่าขุ่นหมอง
เพียงฝันเก่าเศร้าทำนอง
อย่าละอาย อย่าจดจำ



...ฝันร้ายของ "วีรบุรุษ"
(2545)

"มิคสัญญี"



กุ้ง ปู ปลา – โลละเท่าไหร่?
หาได้สักเท่าไรทุกวันนี้
พอถิด หยุดดักกันเสียที
โลกเคลื่อนไปทุกนาทีศิวิไลซ์

อุตสาหกรรมนำชาติพัฒนา
เสือตัวที่สาม - ที่ห้าวิ่งขวักไขว่
ตามไม่ทันก็ฝันค้าง – ตกทางไป
คิดใหม่ ทำใหญ่ เถิดพี่น้อง

ชีวิตเราจะมีค่าสักเท่าไร
อย่างดีก็หากินได้คุ้มปากท้อง
ชาติจะเฟื่อเรืองอำนาจกวาดเงินทอง
เสียเท่าไหร่ก็คงต้องทูนหัวไป

ปลาวาฬเหรอ... ตัวละกี่บาท?
ปะการังอีกกี่บาท – ชดเชยให้
เอางี้, ทั้งทะเลว่ามา – ราคาเท่าไร
จะเหมาซื้อให้แล้วไป ให้จบกัน!


..........


ตราบจนผืนน้ำเหือดแห้ง
ตราบมนุษย์สิ้นแรงจะแข่งขัน
ตราบข้าวปลาคำสุดท้ายกลายเป็นควัน
กินเข้าไปเถิดวันนั้น – โรงไฟฟ้า!



"มิคสัญญี"
(2544)

"บรรลุ..?"



ยืนอยู่ดินใดในโลก
จึงพ้นมุมโศกหนอมนุษย์
มีหรือสงบล้ำงามพิศุทธิ์
จนหลุดพ้นไหวหวั่นปวง?

หรือสุขแท้ท้นเอิบอิ่ม
ได้ลิ้มจนสิ้นหวงห่วง
ลืมอาทรรักหนักทรวง
ก้าวล่วงสู่ภพภูมิใด?

พ้นแล้วทั้งรูป รส กลิ่น?
ได้ยินไหมเสียงร่ำไห้
ผู้คนท้นทุกข์ยังเกลื่อนไป
ยินโลกร่ำไห้ไหมนั่น!

ทางใดไหนเล่าดับทุกข์
นำชนสู่สุขดั่งฝัน
ใช่เพียงเรา - หากคือเขาทั้งหมดนั่น!
ขึ้นสวรรค์ลำพังละอายใจ…



"บรรลุ..?"
(2544)

"สำนึก"



ไม่รู้ ! แต่ข้าเห็น
ความเยียบเย็นในเปลวไฟ
เห็นเพลิงปะทุไหม้
ลุกเรืองในกระแสธาร

ลวงมาในพยับแดด
ที่โลมแผดจนร้าวราน
หลอนจินตนาการ
ในห้วงฝันสงัดงัน



ไม่รู้ ! ข้าได้ยิน
สำเนียงหมิ่นกระทบหยัน
เสียงสะอื้นอันครืนครัน
แห่งคนพ่ายผู้รายเรียง

ลวงมาในเสียงฝน
หลอนมาบนสรรพเสียง
แผ่วไหวในสำเนียง
หากเสียดก้องในสำนึก!



"สำนึก"
(2544)

"อารยวิถี?!"



ที่นี่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
อยู่ในหลืบ-ในรู ไม่สู้หน้า
ในหุบเหว-ในภวังค์ขังน้ำตา
เป็นใบ้-เป็นบ้า---ทำนองนั้น…

ที่นี่มีลำน้ำตาทอดพาดผ่าน
ร่มรื่นหนึ่งอุทยานแห่งความฝัน
มีชีวิตร่ำไห้เหนือสายน้ำนั้น
อุทยานแห่งความฝัน ใช่-ฝันร้าย!



"ที่นี่วิตอาศัยอยู่"
พลิกป้ายดูอาจไม่รู้ซึ้งความหมาย
บางชีวิตเสพน้ำตาทุรนราย
มีชีวิตบนความตายชีวิตนั้น!



"อารยวิถี?!"
(5 มกราคม 2544)

"พลัดบ้าน" (2)



พลัดบ้านมาคว้างเจ็บ
กล้ำกลืนเก็บกระอักใจ
พรึงพรั่นในหวั่นไหว
ในสำนึกแห่งคนจร

เพราะรู้ค่าแห่งรัก
จึงตระหนักในอาทร
เพราะซึ้งซาบในร้าวรอน
จึงถนอมในน้ำใจ

เพราะรู้ค่าแห่งฝัน
จึงหมายมั่นโลกวิไล
จึงสั่นคว้างไปทั้งใจ
เมื่อถูกเหยีดดั่งฝุ่นคลี

พลัดบ้านมาคว้างหม่น
น้ำตากล่นบนวิถี
จึงรู้ผิด-ถูก-ชั่ว-ดี
นั้นต่างค่าเพียง "ครา – คน"



"พลัดบ้าน" (2)
(2544)

"จลาจลท่อก๊าซ (2)"



จะให้ก้มหน้าหรือ?
กับผู้ยื้อแย่งคิดคด
กับปวงรัฐโป้ปด
กำแหงกดขี่นานมา

จะให้อับอายหรือ?
ที่สองมือต้านตีฝ่า
แลกร่างชนคนบีฑา
อุบายรัฐโสมมปวง

ก็จะให้กราบกรานหรือ?
กับผู้ยื้อแย่งหยาบล่วง
กับกี่ครั้งทนถามทวง
ก็เปล่าปวงสิ้นราคา



ทนแล้ว, ที่สุดแล้ว
จึงชักแถวขึ้นดาหน้า
กระนั้นเพียงหวังมองมา
เพียงเห็นค่า- - -ประชาชน

กี่เฆี่ยนกระบองเข่น
เลือดกระเซ็นเกรอะถนน
กี่เท้ากระแทกทน
ในม่านฝนเดือนตุลาฯ


……….


ในฝนพรำ…
น้ำตานั้นก็รินซ้ำย้ำคุณค่า
“ประชาชน”ในมโนนึกอัตตา
แห่งรัฐอวิชชาอหังการ

แพ้พ่าย…?
อีกกี่ฝนจึงละลายเผาผลาญ
ริ้วรอยร้าวลึกทรมาน
รินเลือดพลีจดจารอีกกี่คน?


……….


นิ่งเสียเถิด…
ด้วยมือเราจะเปิดม่านฟ้าหม่น
เช็ดน้ำตาให้เพื่อน-เช็ดให้ตน
ในนามแห่งประชาชนจะมิพ่าย!

ลุกขึ้นเถิดพี่น้อง
เพียงเราร่วมกู่ร้องมิยอมพ่าย
อีกกี่หมื่นรัฐฉลกลอุบาย
จะจูงมือท้าทายเข้าต่อตี!

ก็จะให้ก้มหน้าหรือ?
ในเมื่อเอ็งยังแย่งยื้อในวิถี!
เถิด, เมื่อเรายังเป็นคนจะทนพลี
ชาตินี้ ชีวิตนี้ ป้องผืนดิน!



"จลาจลท่อก๊าซ (2)"
(31 ตุลาคม 2543)

"จลาจลท่อก๊าซ"



เรากลับมาในฐานะจำเลยของสังคม…
นั่งเงียบมาบนรถทัวร์สายใต้
ด้วยความหวาดระแวงต่ออำนาจรัฐ
ประคองเพื่อนบาดเจ็บสู่มุมที่เชื่อว่าปลอดภัยที่สุด
ก่อนประคองหัวใจบอบช้ำของตนสู่หุบเหวแห่งภวังค์…

เรากลับมาในฐานะจำเลยของสังคม…
นั่งเงียบมาบนรถทัวร์สายใต้
ยินเพียงเสียงถอนหายใจ
เฝ้าแต่สบตา
เพียงเพื่อจะบอกกันและกันว่า
ต่างก็มิอาจข่มตาเช่นกัน…

หลับใหลกระไรได้?
ท่ามกลางความทรงจำบาดลึกสดร้อน!

ภาพกองทัพพิทักษ์สันติราษฎร์
เคลื่อนเข้าบดขยี้เรา-คนมือเปล่าสิบสองคน
กลางท้องถนน กลางนครใหญ่


เสียงบู๊ตหลายร้อยคู่กระทบถนนดังกึกก้อง!
แสงแดดส่องกระทบโล่ห์สะท้อนมาวับวาว!
เสียงกระบองแหวกอากาศ!
ใกล้เข้ามา…
ใกล้เข้ามา…
เราเกี่ยวแขนกันแน่นเข้าโดยไม่รู้ตัว
ในอึดใจก่อนนาทีนั้นจะเริ่มต้น…


……….


เรากลับมาในฐานะจำเลยของสังคม…
ในฐานะผู้คลั่งบ้า! ป่าเถื่อน! นิยมความรุนแรง!
คัดค้านวิถีอารยะ!!!


บาปกรรมนี้ทำให้เราต่างไม่อาจข่มตาหลับใหล
ทำให้ตาเรายังเห็นภาพเพื่อนถูกกระแทก-เตะ-ถีบ
เห็นร่างตัวเองขดงออยู่กับพื้นใต้รองเท้าบู๊ต---อุ้งตีนอารยะ…

หูเรายังกึกก้องด้วยถ้อยคำหยาบคาย
ที่เปล่งออกมาจากคนในเครื่องแบบ
หัวใจเรายังเปียกปอนด้วยน้ำตาเพื่อน…และน้ำตาตัวเอง
หลายจุดในร่างกายเรายังเต็มไปด้วยร่องรอยอารยะเหล่านั้น


……….


เรากลับมาในฐานะจำเลยของสังคม…
คือจลาจล ที่ต้องปราบ
จลาจลอันป่าเถื่อน!

เราจำได้ว่าตลอดชีวิตของเรา
นั้นเกลียดชังความรุนแรงนักหนา…

แต่เราก็จำได้ว่า
เราอยากเป็นยิ่งกว่าจลาจลเสียอีก!
ในนาทีที่เห็นเพื่อนผู้หญิงถูกผลักหัวกระแทกเสาไฟ!!!
แต่เราก็ทำได้เพียงแค่เอามือตัวเองเข้าไปซ้อนรับ…

เราจำได้ว่าเราอยากเป็นยิ่งกว่าป่าเถื่อน!
ในนาทีที่เห็นเลือดอาบร่างผู้หญิง-คนมือเปล่า
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "ประชาชน"
ในนาทีที่เห็นเพื่อนซึ่งเพิ่งโดนจับกระแทกเสา
เข้ายื้อแย่งห้ามปรามคนมือเปล่าบางคน
ที่ชักเริ่มทนไม่ได้-ก้มหยิบฉวยก้อนหิน(อันป่าเถื่อน)
ขึ้นมาหวังตอบโต้โล่ห์และกระบอง…(อันอารยะ)


……….


เรากลับมาในฐานะจำเลยของสังคม…
ผู้พ่าย…

ท่ามกลางสายฝนปลายเดือนตุลาคม
ข่าวการรวบรัดสรุปผลประชาพิจารณ์อัปยศถูกประกาศออกมา
เราต่างยืนงงงันอยู่ในห่าฝนนั้น
ปวดแปลบไปทั้งหัวใจ…

น้องคนหนึ่งเป็นลมล้มลง!
เรากรูกันเข้าไปช่วยทั้งน้ำตา
ขณะที่ยืนมองภาพน้องถูกหามออกไป
เราอยากเป็นยิ่งกว่าหมดสติ!
หวังให้ตัวเองล้มฟาดดับสูญลงไปตรงนั้น!!!

สูญไปเหมือนกับสิ่งที่เราร่วมพลีไปในวันนี้…


……….


เรากลับมาในฐานะจำเลยของสังคม…
ท่ามกลางกระแสประณามความรุนแรง---ของเรา
ท่ามกลางการข่มขู่ด้วยกฎหมายสารพัด
ราวกับเข้าใจเจตนารมณ์แห่งกฎหมายนั้น
อย่าว่าแต่มนุษยธรรม…

เรากลับมาในฐานะจำเลยของสังคม…
นั่งเงียบมาบนรถทัวร์สายใต้
กลับบ้าน…
พร้อมกับบาดแผลบนร่างที่ต้องเร่งเยียวยา
และรอยแผลในหัวใจ…อันแพ้พ่าย
ที่บาดลึกยิ่งกว่า…



"จลาจลท่อก๊าซ"
(29-30 ตุลาคม 2543)

"คารวะวีรชน"



ฤาอีกกี่รำลึกคร่ำ-
ครวญฝากคำผ่านแผ่นดิน
กู่ร้องฟ้องแผ่นหิน
ก็เงียบสิ้นอยู่ฉะนี้?

อีกกี่ผู้พลีตน
อีกกี่คนจึงจะชี้
จึงมันผู้กาลี
สำนึกค่า- - -ประชาชน?

เจ็บไหมเล่าพี่น้อง
กี่เสียงร้องเรากู่ก่น
กี่เลือดเนื้อวีรชน
ที่ไหลท้นแล้วซึมหาย?

ครั้งแล้วและคราเล่า
ที่เพียงเรามาฟูมฟาย
ปีเดือนเคลื่อนพ้นหาย
ดั่งละลายกับสายลม?

ด้วยผู้ทุกข์ยาก
ก็ยังยากยังระทม
ทั้งปวงมันผู้ขี่ข่ม
ก็สุขสมอยู่ลอยนวล?


ฤาแผ่นดินนี้สิ้นแล้ว
ตลอดแนวแถวขบวน
ทัพไทที่ท้าทวน
ที่ก้าวสวนกระแสพาล?




ยังหรอก, ทรรัฐ!
กี่กำจัดประหัตประหาร
กี่กระสุนทมิฬมาร
เรามิเคยจะสูญพันธุ์

ยังหยัดและยังอยู่
ยังร้องกู่ยังใฝ่ฝัน
แค้นคั่งทั้งปวงนั้น
ยังนับวันจะทวงคืน

มิท้อ และมิพรั่น
จะฝ่าฟันจะแข็งขืน
เถิด, กี่หอกกระบอกปืน
มิขอคืนปณิธาน

จะก้าวเคียงผองคนทุกข์
จะร้องปลุกไปชั่วกาล
จะบรรเลงเพลงขับขาน
ต้านตีต่อทรชน

ฆ่าเราอีกกี่ครั้ง
เลือดเราหลั่งอีกกี่หน
ทุกเลือดเนื้อวีรชน
จะเติบต้นเป็นช่อธรรม

ตุลาฯ สู่ ตุลาฯ
ถึง พฤษภาฯ ยิ่งตอกย้ำ
ทุกเลือดเนื้อวีรกรรม
คือเสียงปลุกเราลุกทวง

ทุกเลือดเนื้อวีรชน
ไม่สูญเปล่า - เราสัญญา!

"คารวะวีรชน"
(14 ตุลาคม 2543)



หมายเหตุ:
บทกวีนี้ อ่าน/เผยแพร่ครั้งแรกในวาระ "27 ปี 14 ตุลาคม 2516"
ณ เวทีหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2543 (วันเดียวกันกับที่ผมเขียนขึ้น)

กวีรุ่นใหม่ที่ได้ร่วมอ่านบทกวีในวาระดังกล่าวคือ
(เรียงลำดับตามการอ่านในวันนั้น)
"ศิลป์ ศิวากรณ์",
"พณ ลานวรัญ",
"ส.ดอกไม้แดง",
"กานต์ ณ กานท์"

บรรเลงไวโอลินและกีตาร์โปร่ง(เพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา")ประกอบ
โดย "โก้" และ "เก่ง"
(ขออภัย ผมไม่ทราบชื่อจริงของทั้งสองคนจริงๆ ครับ)

"มูน"



มันบ่คือกันดอกนาย
ชีวิตนาย ชีวิตข้า
เฮาอยู่มากับป่า
อยู่กับปลามาแต่บรรพ์

นายเห็นสายน้ำไหล
เห็นโฮงไฟ – ริเวอร์รัน
เห็นเมืองเรืองลาวัณย์
มีไฟปั่นสะดวกดาย

เฮาแลที่ลำน้ำ
เฮาเห็นลำอดีตพราย
เห็นปวงปู่ตายาย
เคยฝากฝังความหลังเฮา

ฝากเฮาไว้กับน้ำ
ฝากแม่น้ำไว้กับเฮา
มีกินน้อยจนเฒ่า
ทุกคำข้าวมาแต่ “มูน”

มันบ่คือกันดอกนาย
นายคิดหลายแต่กับทุน
ปวงเฮากับ "ลำมูน"
บ่ต้องคิด – ติดวิญญาณ!



"มูน"
(มิถุนายน 2543)



หมายเหตุ:
1. "เขื่อนปากมูล" เป็นเขื่อนเดียวในประเทศไทย
ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบกระแสน้ำวิ่งไหลผ่าน
หรือ "run of rıver dam"

2. คำแปลภาษาอีสาน:
บ่ = ไม่, เฮา = เรา, โฮง = โรง,
ไผ = ใคร, บ่ = ไม่

"เสียงของแม่น้ำ"



เพราะฟ้าอำมหิต
อีกคนคิดคดอาธรรม
นโยบายรัฐระยำ
บงการปลิดชีวิตปวง

จึงมาตะโกนกู่
ว่าเรารู้รักห่วงหวง
มาย้ำ มาถามทวง
ทั้งปวงสิ่งที่ชิงไป

เสียง แห่งความทุกข์ท้น
ของ ผู้คนกันดารไกล
แม่ มูนช่วยหลากไหล
น้ำ ตาให้เตือนใจคน



"เสียงของแม่น้ำ"
ข้างห้องประชุม "ADB ภาคประชาชน(เวทีคู่ขนาน)",
เชียงใหม่
(พฤษภาคม 2543)

น้อมอาลัยแด่ "พ่อโฮม ไชยงค์"



เขื่อนยังผงาดง้ำ
น้ำเค็มยังท่วมขังผืนนา
พี่น้องยังเฝ้าคอยความหวัง
รัฐยังลอยตัว...ลอยนวล



พ่อล้มลงแล้ว…
ขณะฝุ่นควันแห่งการต่อสู้ยังตลบ
ขณะน้ำตาแห่งการถูกกดขี่ยังคั่งอกเรา
ฟ้าอำมหิตผืนเดิมก็มาพรากพ่อไป…

เสียงกู่ตะโกนเพรียกหาความเป็นธรรม
เสียงพึมพำปลอบขวัญพี่น้อง
ทุกเสียงของพ่อ
ยังกังวานอยู่ในหูของเราพี่น้อง

เช่นเดียวกับที่
พ่อจะประทับอยู่ในหัวใจของเรา
ของนักรบคนจนทุกคนตลอดไป
เป็นตำนานแห่งราษีไศล
แห่งลำน้ำมูน

ในนามของนักรบสามัญชน
ผู้ไม่สยบยอมต่อการกดขี่บีฑา



และ "เรา"
จะยังคงเดินต่อไป
บนทางที่พ่อเคยเดิน…
ไปสู่หวังที่พ่อเคยวาด…
ความหวังของพี่น้องคนจน



น้อมอาลัยแด่ "พ่อโฮม ไชยงค์"
นักรบสามัญชนแห่งบ้านดอนสัมพันธ์
แห่งราษีไศล
แห่งเรา…
(23 พฤษภาคม 2543)

"เพลงรบ"



ปวงเราผู้ทอดกาย
อยู่ใต้สายพิรุณริน
พื้นภพกันดารหิน
ณ ภูมิแห่งลำเนานาน

ดวงตาอันแห้งผาก
ในหลายหลากซึ่งสังขาร
หากหนึ่งเดียวในวิญญาณ
ในห้วงหุบชะตากรรม

ฝนฟ้าพิรุณโปรย
ย้ำสายโบยแห่งอธรรม
ตีนคนผู้เหยียบย่ำ
วิถีชีพแห่งเผ่าชน




จึงมาเพื่อประกาศ
ต่ออำนาจอันดาลดล
ต่อปวงผู้ฉ้อฉล
ละโมบกอบตะกายกิน

ว่าน้ำตาผู้ต่ำต้อย
อันเคยค่อยทยอยริน
ใช่ซึมหายใต้ทรายหิน
และบัดนี้ได้หลอมรวม


เป็นธารระทมท้น
เป็นสายชลอันทับท่วม
ภูผานภารวม-
ถึงสวรรค์ทุกชั้นไป!




จึงมาเพื่อประกาศ
ว่าอำนาจอุบาทว์ใด
เคยกดขี่บีฑาไว้
บัดนี้เราจะทวงคืน

ทวงสัญญาตระบัดสัตย์
สารพัดตะกายกลืน
ทวงชีพอันเข็ญขื่น
ทวงวิถีแห่งวิญญาณ์

พิณแคนประโคมโหม
พิรุณโถมเป็นสายมา
พลันพระพายและสายฟ้า
ก็กึกก้องทำนองชัย!!




"เพลงรบ"
หมู่บ้าน "แม่มูนมั่นยืน1", โขงเจียม, อุบลราชธานี
(มีนาคม 2543)

"เสียงสาปจากฝั่งมูน"



ทะมึนเขื่อนมหึมา
กั้นธารา - คร่าชีวิต
ทมิฬรัฐอำมหิต
เหิมลิขิตชีวิตคน

กำแหงคนเรืองอำนาจ
ลืมสิ้นชาติกำเนิดตน
ลืมข้าวปลาผลิตผล
ที่ชุบเลี้ยงจนเหิมใจ

ระกำใจในชะตา
แม่ธาราเคยอาศัย
สรรพสิ่งได้อิงไอ
ล่มสลายเพียงชั่ววัน

นี่เฮือนเฮาไผมาฮื้อ?!
ปล้นชิงยื้อทุกสิ่งอัน
ลับมลายดั่งพรายฝัน
เหลือเพียงชีพมิรู้ทาง

ชีวิตเฮาไผสิสั่ง!
เคียดแค้นคั่งอัดอกค้าง
ชีวิตไผ - ไผชี้ทาง?
ไผมาม้างชีวิตกู!?

บา…มือเฮาสิกู้กอบ
สิจูงหอบกันไปสู้
สิตัวตายมลายกู
สิบ่ถอย บ่จำนน

วิถีเฮาสิศักดิ์สิทธิ์
รอยชีวิตบรรพชน
บ่ว่าไผมาปลิ้นปล้น
มือคนจนสิชิงคืน

วิถีเฮาไผมาปล้น
บรรพชนสิสาปมัน!


"เสียงสาปจากฝั่งมูน"
(2542)





คำแปลภาษาอีสาน: เฮือน = เรือน (บ้าน),เฮา = เรา,
ไผ = ใคร, ฮื้อ = รื้อ, อัดอก = อัดอั้น- คับอกคับใจ, ม้าง = รื้อ – ทำลาย, สิ = จะ, บ่ = ไม่

"แคนแค้น"



เสียงเพลงและกลอนลำ
ขับลำนำอันขื่นแค้น
ฝากรักผ่านเพลงแคน
และฝากแค้นผ่านกลอนลำ

เล่าทุกข์ของคนยาก
อันเกิดจากมวลอธรรม
ผ่านน้ำตาอันชอกช้ำ
เป็นน้ำคำอันขื่นครวญ



"แคนแค้น"
(แอบฟัง "พ่อทองเจริญ" เป่าแคน)


หมู่บ้าน "แม่มูนมั่นยืน1", โขงเจียม, อุบลราชธานี
(14 พฤศจิกายน 2542)

"สั่งฟ้า"



ฝันของประชาชน
กี่สู้ทน กี่รอคอย
กี่น้ำตาอันต่ำต้อย
มือจึงสอยถึงดารา

เพียงใจมั่นกุมเกี่ยว
ฝ่าธารเชี่ยวอันบีฑา
กู้ร้องก้องฟากฟ้า
ไปจนกว่าชีพมลาย

กี่ร่างพลีร่วงหล่น
ซบดินท้นแล้วเลือนหาย
เถอะ, ฟ้า ดาราพราย
อย่าได้หมายจักจำนน

เถอะ, ฟ้า ดาราพราย
อย่าได้หมายจักจำนน!



"สั่งฟ้า"
หมู่บ้าน "แม่มูนมั่นยืน1", โขงเจียม, อุบลราชธานี
(14 พฤศจิกายน 2542)

"สามัญนาฏกรรม"



- - - - - - - - - - โ ห ม โ ร ง - - - - - - - - - -


"สักวันหนึ่งเมื่อดอกไม้บานสะพรั่ง
สักวันหนึ่งคนจริงจังจักหลากหลาย
สักวันหนึ่งคนดีดีทั้งหญิงชาย
จักเกิดขึ้นมากมายในแผ่นดิน"

(ไม่ทราบนามผู้ประพันธ์)


- - - - - - - - - ดิ ง- ดิ ง- ด่ อ ง - - - - - - - - - -


ยี่สิบปีผ่านไป(ไวจนไม่รู้สึกรู้สา)...


เราคือ "ผู้ใช้บริการ"
มหาวิทยาลัยคือทางผ่านอันแหว่งวิ่น
เราเพียงมาซื้อความรู้ไปหากิน
อย่าให้ดิ้นรนไปกว่านี้เลย


จึงเห็นคนโกงกินแล้วอึ้งอ้ำ
เห็นคนดีถูกกระทำแล้วชาเฉย
เห็นแผ่นดินถูกล้างผลาญแล้วละเลย
ก็มาเรียนเฉย-เฉย เข้าใจมั้ย?


เข้าใจมั้ย! มาเรียนต้องเขียนอ่าน
ก็เพื่อเงินเพื่องานที่หวังไว้
เพียงเท่านี้ – แค่นี้…แทบขาดใจ
อย่ามาหวังอะไรกับตัวฉัน


วะ! บอกแล้ว- - -เราคือ “ผู้ใช้บริการ”!!
มหาวิทยาลัยคือทางผ่านก็เท่านั้น
จะปิดตาปิดหูไม่รู้กัน
ไม่กี่ปีตัวฉันก็ลาไป…



- - - - - - - - - ธ ร ณี ก ร ร แ ส ง - - - - - - - - - -


จึงวันนี้คนดีดีต้องกลืนกล้ำ
วันนี้คนระยำจึงหลากหลาย
ข้างนักศึกษา ประชาชน และฝูงควาย
ก็ลืมสิ้นทั้งดอกไม้และแผ่นดิน



- - - - - - - - - ผี ฟ้ า เ อ ย - - - พ ว ก เ ร า เ ต้ น รำ - - - - - - - - - -


"สามัญนาฏกรรม"
(2541)

"คนดี..?"



“สังคมเลวเพราะคนดีท้อถอย...?”


เพื่อนเอ๋ย...
มัวเศร้าสร้อยอยู่หนไหน
เจ็บปวดรวดร้าวมากเพียงไร
จึงปล่อยวางหวังไว้ไม่ไยดี

ฟังก่อน...
อันความเจ็บช้ำที่บั่นทอนใช่จะชี้ -
ขาดว่าหนจะดุ่มด้นนั้นไม่มี
โน่นแน่ะ - แสงแห่งสุรีย์ยังฉายมา

ดูก่อน...
เธอถอดใจวางจากจร - เธออ่อนล้า
แต่ผู้คนยังทุกข์ยากทรมา
รอมือเธอซับน้ำตาจูงฝ่าไป


เพื่อนเอ๋ย...
หากเธอยังเฉยเมยสิ้นสงสัย
ก็คงต้องทนเจ็บช้ำมันร่ำไป
เพียงปลอบใจเรียกตนว่า "คนดี"..?



"คนดี..?"
(2538)

"กาสากำสรวล"



ระบบการศึกษาใครอะไรหนอ?
สอนให้คนทำตัวงอหางกระดิก
ปากพร่ำท่องมือเฝ้าจับกระดาษพลิก
จดยิก-ยิกทั้งไม่รู้ซึ่งปลายทาง?

เขาให้ตามก็เดินตามไม่พร่ำบ่น
เหมือนหุ่นยนต์วนหลักกลางปลักกว้าง
เดินไปไหนก็ไม่รู้ - ไม่แคลงคลาง
หรือเขาไม่เคยหาทางให้รู้คิด?

จะกี่วันกี่เดือนที่เลื่อนไหล
ไม่เคยย้อนเฉลียวใจไม่ขัดติด
อะไรคือค่าที่แท้แห่งชีวิต
เขาไม่บอกก็ไม่คิด - ไม่งวยงง?

เหมือนปากถูกอุดเอาไว้ไม่ให้พูด
มือก็ฉุดหูก็กรอกกล่อมให้หลง
ตาก็ปิดจนมืดมิดจนดับลง
มีกี่ใจที่ยังคงกระสนไป?

เรียนเพื่อคิดค้นหนทางเพื่อสร้างสรรค์
หรือเพื่อบั่นปัญญาน่าสงสัย
หรือเพียงรู้กอบโกยตาม-ตามกันไป?
ระบบการศึกษาใครอะไรกัน!



"กาสากำสรวล"
(2537)

"แสวงหา?"



หวังใดในปลายทาง
จึงก้าวย่างมาทางนี้
ความสุขประดามี?
ฤาหวังที่จะแทนคุณ

แทนทดล้านหยดเหงื่อ
อันพลีเอื้อเป็นข้าวอุ่น
แรงงานอันการุณย์
ที่ค้ำจุนจนเติบโต?

เพียงหวั่น เพียงครั่นคร้าม
จึงเพียรถามใช่โยโส
สิ้นแล้วหรือผู้เติบโต
มาเพื่อเคียงข้างมวลชน?



"แสวงหา?"(2537)

"พฤษภาฯกำสรด"



กราวรัวเลื่อนลั่นสะท้านสะเทือน
ระงมร้องระนาวเกลื่อนกลาดถนน
ผวาวิ่ง – ยิงซ้ำ - ย่ำทีละคน
เกือกกระแทก - กระทุ้งจนกระอักไป!

ก้มกราบกรานคลานไหว้เหมือนตายซ้ำ
พานท้ายปืนเกรี้ยวกระหน่ำ - กระแทกใส่
บู๊ตกระทืบจนกระเทือนถึงตับไต
ลิ่ม–ลิ่มเลือดกระอักไหล- - - กระจัดกระจาย!!!

อนิจจา! อนิจจัง! บ้านฉันเมืองพุทธ?!
แล้วอมนุษย์ฝูงนี้มาแต่ไหน?
เอน็จอนาถจริงหนา - ประชาธิปไตย
ต้องสะอื้นอีกเท่าไรจึงได้มา ?



"พฤษภาฯกำสรด"
(2535)

ไม่มีชื่อ (พฤษภาคม 2535)



มัวหลับใหลอยู่ไยไทยทั้งชาติ
ความอุบาทว์มาเยือนเมืองแล้วเห็นไหม
จงตื่นก่อนแล้วลองเพ่งมองไป
ดูซิใครมันเข่นฆ่าประชาชน!


ดูซิ! เลือดของใครที่ไหลหลั่ง
ดูซิ! ร่างใครกองเกลื่อนถนน
ดูซิ! ฝูงสัตว์ป่าขย้ำคน
ดูซิ! คนมือเปล่าตายเปล่าดาย


มองแล้วรู้สึกเช่นไรในภาพนี้
แล้วคิดที่จะทำอะไรไหม
หรือเห็นดีเห็นงามตามเขาไป
หรือยังหลับใหลสนิทไม่คิดมอง?



ไม่มีชื่อ
(พฤษภาคม 2535)